KM กรมวิทยาศาสตร์บริการ

กลุ่มได้จัดบรรยาย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานในห้องปฏิบัติการเคมี โดย นว.ปก.โอบเอื้อ  อิ่มวิทยา  และ นว.ปก.หนึ่งฤทัย  แสแสงสีรุ้ง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558

วัตถุประสงค์

           เพื่อสร้างความตระหนักเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการสร้างความปลอดภัยในการทำงานในห้องปฏิบัติการ โครงการเคมี

 เนื้อหาโดยสรุป

ส่วนที่ 1 (นว.ปก.โอบเอื้อ  อิ่มวิทยา)

ได้นำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการ 3 แห่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผ่านวิดีโอภาษาอังกฤษ ซึ่งจัดทำโดย U.S. Chemical Safety and Hazard Investigation Board (CSB) เพื่อรับรู้ถึงอันตรายจากการทำงานโดยขาดความตระหนักด้านความปลอดภัยในการทำงานในห้องปฏิบัติการ โดยเฉพาะทางเคมี

กรณีศึกษาที่ 1 อุบัติเหตเพลิงไหม้จากปฏิกิริยาทางเคมีในมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอเนียร์ที่ลอสแองเจลลิส (UCLA)ใน ปี ค.ศ. 2008 ซึ่งทำให้ผู้ช่วยวิจัย ชื่อ Sheri Sangji ที่เพิ่งศึกษาจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดนไฟไหม้ร่างกายเกินร้อยละ 40 และเสียชีวิตในอีก 18 วันต่อมาหลังจากเกิดอุบัติเหตุ

กรณีศึกษาที่ 2 อุบัติสารพิษ (ปรอท) เข้าสู่ร่างกายขณะทำการทดลองในมหาวิทยาลัยดาร์ทเมาท์ (Dartmouth University) ในปี ค.ศ. 1997 ซึ่งทำให้ศาสตราจารย์ Karen Wetterhann เสียชีวิตในเดือนที่ 10 หลังจากเกิดอุบัติเหตุ

กรณีศึกษาที่อุบัติเหตุการระเบิดของสารเคมี จากการสังเคราะห์สารเคมีปริมาณมากเกินไป ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเทกซัส (Texas Tech University) ในปี ค.ศ. 2010 ซึ่งทำให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา Preston Brown ได้รับบาดเจ็บสาหัส นิ้วมือขาด และได้รับบาดเจ็บตามร่างกายหลายแห่ง

       จากกรณีศึกษาทั้งสาม จะเห็นได้ว่าการเกิดอุบัติเหตุมีสาเหตุต่างๆกัน แต่สามารถสรุปเป็นสาเหตุหลักได้ว่าเกิดจากการขาดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน นอกจากทั้งสามกรณีข้างต้น CSB ยังได้ทำการสำรวจอุบัติที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2001 จำนวน 120 กรณี ว่าสามารถจำแนกอุบัติเหตุได้เป็น 3 จำพวกได้แก่ การระเบิด, การเกิดเพลิงไหม้, และการรั่วไหลของสารเคมี ซึ่งอุบัติเหตุเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายของทรัพย์สิน, การบาดเจ็บสาหัส, และการเสียชีวิต

       CSB ยังได้เสนอแนวทางในการป้องกันอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในห้องปฏิบัติการของ วศ. ดังนี้

1.) รณรงค์ปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน

2.) จัดการอบรมทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติในเรื่องความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

3.) จัดหาเครื่องมือป้องกันภัยที่เหมาะสมให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน

4.) ตรวจประเมินความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า

5.) สร้างและพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านความปลอดภัย ซึ่งประกอบด้วย

          5.1 การจัดทำข้อมูลทั่วไปและอันตรายของสารเคมี รวมทั้งข้อมูลการครอบครองสารเคมีชนิดต่างๆของหน่วยงานภายใน วศ.                    

          5.2 การรายงานข้อมูลของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการทุกครั้งแก่ผู้รับผิดชอบเป็นลำดับขั้น ไม่ว่าจะได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุหรือไม่ก็ตาม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การป้องกัน และความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

          5.3 แจ้งให้ทุกคนใน วศ. ได้รับทราบถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และมาตรการป้องกันอุบัติเหตุคล้ายคลึงกันซึ่งอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

          5.4 จัดทำตารางการอบรมที่จำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติงานกับสารเคมีประเภทต่างๆ

6.) ดำเนินการทบทวน และพัฒนาแผนงานด้านการป้องกันสุขภาพอนามัยจากสารอันตรายประเภทต่างๆ อาทิเช่น สารที่มีพิษ และสารที่เกิดปฏิกิริยาการลุกไหม้และระเบิดได้

ส่วนที่ 2 (นว.ปก.หนึ่งฤทัย  แสแสงสีรุ้ง)

         ได้แสดงถึงองค์ประกอบหลักของห้องปฏิบัติการปลอดภัย ที่ตีพิมพ์ไว้ในเอกสารแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งประกอบไปด้วย

  • การจัดการข้อมูลและเอกสาร การบริหารระบบการจัดการความปลอดภัย

  • ระบบการจัดการสารเคมี

  • ระบบการจัดการของเสีย

  • ลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการอุปกรณ์และเครื่องมือ

  • ระบบการป้องกันและแก้ไขภัยอันตราย

  • การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

    พร้อมทั้งยกตัวอย่างข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการจากหน่วยงานต่างๆ จำนวน 3 หน่วยงาน คือ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วข้อกำหนดของแต่ละหน่วยงานมีมักจะมีความคล้ายคลึงกัน เช่น การแต่งกายให้เหมาะสม การใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล การห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม กำหนดเวลาการใช้ห้องปฏิบัติการ ไม่ใช้ห้องปฏิบัติการตามลำพัง ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ต่ออันตราย และการกำจัดของเสียต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก่อนเริ่มลงมือปฏิบัติงาน เป็นต้น

        ในส่วนสุดท้ายของการบรรยายได้มีการเน้นย้ำถึงสาเหตุหลักของการทำงานในห้องปฏิบัติการว่า หากแยกประเภทของสาเหตุของการเกิดอันตรายว่า การมีความตะหนักถึงความปลอดภัยรวมทั้งสร้างวัฒนธรรมการทำงานในห้องปฏิบัติการได้อย่างปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและผู้ร่วมงานนั้น จะสามารถช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ หรือผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้